การนำเสนอบนเว็บนั้นก็จัดเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของกระบวนการสื่อสาร รูปแบบและกระบวนการสื่อสารนั้นประกอบด้วยกระบวนการสื่อสารมีองค์ประกอบ 4 ส่วน ดังนี้
1. ผู้ส่งสาร (Sender) ซึ่งก็คือเรานั่นเอง
2. สาร (Message) หมายถึง สิ่งที่เราต้องการนำเสนอ
3. สื่อหรือช่องทาง (Medium/Channel) หมายถึง ตัวกลางหรือสิ่งที่จะนำสารที่เรา ต้องการต้องการนำเสนอไปสู่ผู้รับ เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโสตทัศน์ต่างๆ และในที่นี้ก็คง จะเป็น Web Site นั่นเอง
4. ผู้รับ (Receiver) ก็คือผู้รับสาร และการนำเสนอผ่าน WWW นั้นผู้รับสาร เรามีมากมายทั่วโลกที่จะเข้ามาชม Web ของเรา ดังนั้นในการออกแบบและจัด ทำนั้นเราควรมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งจะทำให้เรามีเป้าหมายในการทำงาน
หลักการโดยทั่วไปในการจัดทำ Web เท่าที่ค้นคว้าและสรุปได้เป็นดังนี้
1. การวางแผน ข้อนี้ผมได้กล่าวไปแล้วนะครับ
2. การเตรียมการ เช่น การเตรียมการด้านข้อมูลทั้งที่เป็นเนื้อหา ภาพ เสียง หรือสิ่งจำเป็นต่างๆ ที่ท่านคิดว่าต้องการจะนำเสนอ
3. การจัดทำ เมื่อวางแผนและเตรียมการเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาจัดทำแล้วนะครับ บางท่านอาจจะทำคนเดียว เช่นเดียวกันกับผมก็ได้ การทำเว็บคนเดียวไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก แต่ขอให้มีเวลาให้ก็พอ แต่บางครั้งความคิดความอ่านอาจจะไม่แล่นเท่ากับทำหลายคน
4. การทดสอบ การทำงานทุกครั้ง ควรจะมีการทดสอบก่อนเผยแพร่ทุกครั้ง เพื่อหาข้อบกพร่องแล้วนำมาแก้ไข การทำเว็บนั้น เมื่อทำเสร็จและ Upload ไปไว้ใน Server แล้วไม่ว่าจะเป็นของฟรีหรือเสียเงินก็ตาม ให้ท่านลองแนะนำเพื่อนฝูงที่สนิทชิดเชื้อและใช้ิอินเทอร์เน็ตอยู่ ลองเปิดดูและให้บอกข้อผิดพลาดมา เช่น การ link ต่างๆ, รูปภาพ และตัวอักษรว่าถูกต้อง ช้าไปหรือเปล่า เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีผลต่อเว็บทั้งสิ้น

ถ้าหากท่านทดสอบจากเครื่องของท่านเองแล้ว ข้อผิดพลาดต่างๆ มักจะไม่ค่อยปรากฏให้เห็น เนื่องจากว่าข้อมูลต่างๆ จะอยู่ในเครื่องของท่าน และ link ต่างๆ เช่นกัน โปรแกรมจะทำการค้นหาในเครื่องจนพบ ทำให้เราไม่เห็นข้อผิดพลาด
5. การเผยแพร่ เมื่อทำการทดสอบ แก้ไขปรับปรุงเสร็จแล้ว ท่านก็สามารถเผยแพร่เว็บของท่านออกสู่สาธารณชนได้แล้ว ส่วนจะประชาสัมพันธ์อย่างไร ก็สุดแล้วแต่ท่านเอง
"ถ้าจะทำเว็บ จะทำเรื่องอะไรดี" ผมก็ตอบว่า "ทำเรื่องที่เราถนัดและรู้ดีที่สุด" อย่างที่ผมเรียนให้ทราบตั้งแต่แรกนั่นละครับ ทำคนเดียวดูคนเดียวก่อนก็ได้ ถ้าคิดว่าดีพอแล้ว ก็บอกเพื่อนๆ ให้ทราบ และถ้าคิดว่าถึงเวลาจะประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรับรู้ก็ลองติดต่อกับเว็บไซต์ดังๆ ให้เขาช่วยนำเสนอ หรือจะแลก link กับเว็บไซต์อื่นๆ ก็ไม่ผิดกติกาอันใด
ถ้าหากท่านยังไม่ทราบจริงๆ ว่าจะทำอะไรดี ลองมาดูแนวทางและเนื้อหาที่ควรจะนำเสนอซึ่งมีดังนี้
1. เรื่องของตัวเอง เอาเรื่องนี้แหละ ลองเขียนดู อยากเล่าอะไรเกี่ยวกับตัวเองให้คนอื่นได้รับรู้ เช่น ความชอบ ความถนัด เรื่องราวประทับใจในวัยเด็ก วัยรุ่น วัย...เยอะแยะไปหมดงานอดิเรก ภาพถ่ายต่างๆ ฯลฯ
2. เรื่องงานอดิเรกหรือเรื่องที่สนใจเป็นพิเศษ หัวข้อนี้ก็แยกมาจากข้อ 1 หากใครไม่ต้องการเล่าเรื่องตัวเองให้ใครได้รับรู้ ก็เอาเรื่องที่เราชอบหรือสนใจเป็นพิเศษ ยกตัวอย่าง เว็บไซต์แรกที่ทำเป็นเรื่องการถ่ายภาพหลังๆ นี้วิชาชักแก่กล้าก็หันมาเล่นเรื่องเทคโนโลยีการศึกษาระดับชาติกันเลยทีเดียว
3. เรื่องราวข่าวสารต่างๆ จากนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ บางครั้งเราอ่านหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารต่างๆ และมีเรื่องราวที่น่าสนใจ บางคนตัดแปะเก็บเอาไว้ตั้งแต่สมัยยังไม่มีเว็บไซต์และพอเริ่มรู้จักเว็บและอยากมีเว็บเป็นของตัวเอง ถ้าไม่รู้จะเสนออะไร ก็เอาข่าวหรือเรื่องราวพวกนี้แหละมานำเสนอ ทั้งเก่าและใหม่ คละเคล้ากันไป ตัวอย่างก็มีให้เห็นกันมากมาย
4. เรื่องราวของบริษัท บางท่านอาจจะทำงานในหน่วยงาน และร้อนวิชาอยากจะทำเว็บไซต์นี่ก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะเพิ่มความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของท่าน ก็ลองปรึกษาหัวหน้างานดูว่า ถ้าจะอาสาทำให้นี่จะได้ไหม
5. เรื่องราวของโรงเรียน ข้อนี้ สำหรับโรงเรียนที่ต้องการจะทำเว็บไซต์ในแง่มุมต่างๆ อาทิประวัติความเป็นมา รายชื่ผู้บริหาร ครูอาจารย์ ผลงานของโรงเรียน ฯลฯ เป็นต้น เท่าที่สำรวจมาส่วนใหญ่ก็จะเป็นอย่างนี้ ทีนี้ จะเสนอแนวคิดในการทำเว็บไซต์เพื่อการศึกษาบ้าง เช่น การนำเสนอแผนการสอนหรือวิธีการสอนที่ใช้แล้วนักเรียนสนใจเรียนและมีผลการเรียนดีขึ้น หรือ การสร้างและผลิตสื่อสารสอนโดยใช้วัสดุท้องถิ่น ต่างๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ทั้งสิ้น ถ้าหากโรงเรียนแต่ละโรงเรียนเสนอแนวคิดของตนเองเพียงหนึ่งคิด หากมีสัก 500 โรงเรียนทั่วประเทศเราก็จะมีแนวคิดที่หลากหลาย อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาต่อไป

การนำเสนอด้วยเว็บ(Web Presentation)
เพื่อให้การนำเสนอด้วยเว็บเป็นไปอย่างน่าสนใจและดึงดูดผู้คนให้เข้ามาชม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทราบถึงหลักการและวิธีการในการออกแบบและการนำเสนอ เพราะถ้าหากทำไปโดยปราศจากการออกแบบหรือการนำเสนอที่ดีแล้ว ผู้ชมอาจจะไม่สนใจและใส่ใจที่จะเข้ามาชม ทำให้การนำเสนอในครั้งนั้นสูญเปล่าได้ดังนั้นผู้ที่จะออกแบบควรเรียนรู้และเข้าใจถึงกระบวนการของการนำเสนอก่อน
เนื่องจากเวิลด์ไวด์เว็บนั้น นอกจากจะเป็นแหล่งข้อมูลที่หลากหลายเพื่อการค้นหาแล้ว หน่วยงานและองค์กรต่างๆ รวมถึงบุคคลยังสามารถใช้เว็บเพื่อเป็นสื่อในการนำเสนออีกทางหนึ่งด้วยและกระบวนการนำเสนอผ่านเว็บนั้นก็ไม่ได้แตกต่างจากการนำเสนอผ่านสื่ออื่นๆ เช่น การนำเสนอด้วยสไลด์ การนำเสนอด้วยรายการวิทยุโทรทัศน์ การนำเสนอผลงานด้วยคอมพิวเตอร์ เช่น โปรแกรม PowerPoint หรือการทำบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เท่าใดนัก แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้การนำเสนอด้วยเว็บมีความน่าสนใจและแตกต่างจากสื่ออื่นก็คือ สิ่งที่ปรากฏบนเว็บนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูล
ให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังเป็นสื่อที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ทำเว็บกับผู้ชมหรือระหว่างผู้ชมกับผู้ชมด้วยกันเองได้ทันทีอีกด้วย โดยอาศัยหลักการที่เรียกว่า Common Gateway Interface (CGI)ซึ่งได้กล่าวถึงรายละเอียดในเรื่องของเว็บเพจแล้ว
ขั้นตอนในการนำเสนอ
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า การนำเสนอด้วยเว็บเพจก็มีลักษณะคล้ายคลึงกับการนำเสนอด้วยสื่อทั่วไป คือมีวัตถุประสงค์เพื่อการสื่อสารระหว่างผู้ส่งและผู้รับโดยมีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นสื่อและขั้นตอนต่างๆในการนำเสนอผ่านเว็บ (Lemay, 1996; Nielsen, 1999; กิดานันท์ มลิทอง, 2542;) ได้กล่าวไว้ มีดังนี้
1. การวางแผนและตั้งวัตถุประสงค์
การวางแผนในที่นี้รวมถึงการกำหนดจุดมุ่งหมายและกลุ่มเป้าหมายของการทำงานด้วยในการนำเสนอต่างๆ หรือทำเว็บก็ตาม หากมีจุดหมายว่า จะทำเพื่ออะไร เพื่อใคร อย่างไร เมื่อมีจุดมุ่งหมายและกลุ่มเป้าหมายที่แน่ชัดแล้ว จะทำให้มองเห็นเป้าหมายในการทำงานได้ชัดเจนขึ้น ตัวอย่างเช่น หากต้องการจะนำเสนอเกี่ยวกับเรื่องช้าง โดยมีจุดหมายเพื่อนำเสนอความรู้เกี่ยวกับช้างตั้งแต่ดึกดำบรรพ์จนถึงปัจจุบันโดยมีกลุ่มเป้าหมายคือคนที่สนใจเรื่องช้างและเรื่องธรรมชาติ และต้องการนำเสนอผ่านเว็บเมื่อทราบเช่นนี้แล้ว ก็จะทำให้การทำงานในขั้นตอนต่อไปง่ายยิ่งขึ้น
2. รวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูล
เมื่อได้เรื่องราวที่จะนำเสนอ โดยมีจุดมุ่งหมายและกลุ่มเป้าหมายแน่ชัดแล้ว ก็ถึงขั้นตอนในการรวบรวมแหล่งข้อมูล จากตัวอย่างเรื่องช้างในข้อที่ 1. ก็ค้นคว้าข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ทั้งที่เป็นเนื้อหา รูปภาพเสียงตลอดจนภาพเคลื่อนไหว และสิ่งอื่นๆ ที่เกี่ยวกับช้าง ที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อการนำเสนอ

3.ศึกษาและเรียงลำดับข้อมูล
หลังจากได้ข้อมูลเบื้องต้นมาแล้ว ควรที่จะศึกษาข้อมูลเหล่านั้นว่าส่วนไหนที่เกี่ยวข้องกันสามารถแยกเป็นหมวดเป็นหมู่ได้หรือไม่ เช่น เมื่อหาข้อมูลเรื่องช้างมาได้พอสมควร อาจจะแยกแยะเป็นหมวด ดังนี้ประวัติของช้างตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ วิวัฒนาการของช้าง ประเภทของช้าง ช้างไทยประโยชน์ของช้าง ฯลฯ เป็นต้นเมื่อได้หัวข้อหลักแล้ว ส่วนประกอบย่อยต่างๆ ก็จะค้นหาได้ง่ายขึ้น
4. การออกแบบสาร
เมื่อได้เนื้อหาและหัวข้อในการนำเสนอแล้ว ลำดับต่อมาก็๋คือการออกแบบเนื้อหาให้น่าสนใจ ซึ่งตามหลักของเทคโนโลยีการศึกษา เรียกว่า การออกแบบสาร (message design) การออกแบบสารนี้นอกจากด้านเนื้อหาแล้ว ยังรวมไปถึงองค์ประกอบต่างในการนำเสนอด้วย เช่น สีของตัวอักษร, ภาพประกอบ กราฟิก, เสียงฯลฯ เหล่านี้จะต้องสื่อความหมายไปในทิศทางเดียวกันกับเนื้อหาด้วย นอกจากนี้ ควรจะเป็นมาตรฐานเดียวกันเช่น สีของตัวอักษร สัญรูปหรือปุ่มต่างๆ ที่ใช้ในการเชื่อมโยง
5. การเขียนแผนผังของงาน
การทำแผนผังของงาน (flow chart) จะทำให้ลำดับเรื่องราวได้ง่ายขึ้นและเป็นประโยชน์ในการเชื่อมโยงเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งในการออกแบบเว็บนั้นนักออกแบบบางคนจะทำแผนผังของงานโดยใช้กระดาษสติกเกอร์ที่สามารถลอกออกได้แปะไว้บนบอร์ด ตามลำดับของเนื้อหาเพราะง่ายต่อการเปลี่ยนแปลงหรือบางคนอาจจะใช้วิธีการเขียนบนไวท์บอร์ดด้วยปากกาที่ลบได้โดยง่าย

6. การเขียนบทภาพ (storyboard)
การเขียนบทภาพ (storyboard) ของงานลงในกระดาษก่อนลงมือทำ นอกจากจะทำให้ เรากำหนดองค์ประกอบของงานได้อย่างคร่าวๆ แล้วยังช่วยให้มองเห็นภาพของงานชัดเจนยิ่งขึ้น และเมื่อลงมือทำงานจริงๆก็จะทำได้ง่ายขึ้น
7. การจัดทำเว็บ
เมื่อผ่านขั้นตอนทุกอย่างจนมาถึงขั้นการจัดทำแล้ว การลงมือทำถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของกระบวนการเพื่อผลสำเร็จของงาน โดยทำตามแผนภาพของงานจะทำให้การทำงานสะดวกยิ่งขึ้น
8. ทดสอบและประเมินผล
หลังจากทำเสร็จทุกขั้นตอนของการจัดทำแล้ว ควรจะมีการทดสอบและประเมินผลจากตัวผู้จัดทำก่อนโดยสมมติว่าเป็นผู้ชมคนหนึ่ง โดยดูองค์ประกอบต่างๆ ที่ได้ทำขึ้นมา เช่นการเชื่อมโยงตรงตามที่กำหนดไว้หรือไม่ สีที่ใช้ในการเชื่อมโยงเป็นมาตรฐานเดียวกันทุกหน้าและใช้การได้หรือไม่ ภาพหรือกราฟิกตรงตามเนื้อหาหรือวัตถุประสงค์หรือเปล่า ฯลฯ เป็นต้น
จากนั้น เมื่อได้ถ่ายโอนข้อมูลไปเก็บไว้ยังเครื่องบริการเว็บแล้ว ก็ควรแนะนำเพื่อนหรือคนอื่นๆช่วยตรวจสอบอีกครั้ง ซึ่งถ้าถ่ายโอนข้อมูลไม่ครบ และทำการทดสอบด้วยเครื่องที่จัดทำก็จะไม่พบข้อบกพร่อง เนื่องจากแฟ้มข้อมูลต่างๆ ถูกบรรจุอยู่ไว้ในเครื่องที่จัดทำอยู่แล้ว โปรแกรมก็จะนำแฟ้มข้อมูลที่อยู่ในเครื่องมาแสดงผล แต่ถ้าเป็นเครื่องอื่นหากเราถ่ายโอนข้อมูลไม่ครบ ก็จะพบข้อผิดพลาด
9. การประชาสัมพันธ์
หลังจากทำการทดสอบและประเมินผลจนเป็นที่น่าพอใจแล้ว ก็สามารถประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้อื่นได้รับรู้โดยผ่านทางคนรู้จักหรือผ่านทางเว็บที่ให้บริการประชาสัมพันธ์เว็บใหม่
เนื้อหาที่นำเสนอผ่านเว็บ
เนื่องจากการนำเสนอเนื้อหาผ่านเว็บนั้น ไม่ได้มีข้อกำหนดเอาไว้ว่าควรนำเสนอในเรื่องใด ดังนั้นเนื้อหาต่างๆ ที่ปรากฏบนเว็บจึงมีแทบทุกประเภท เช่น การค้า การศึกษา การแพทย์ การทหาร เทคโนโลยี บันเทิง เกม กีฬา อาหาร หรือแม้กระทั่งเรื่องราวส่วนตัว ฯลฯ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีเว็บที่มีเนื้อหาในแง่ลบอีกด้วยซึ่งในแต่ละวันจะมีเว็บไซต์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก
ที่มา http://www.kradandum.com/thesis/thesis-02-4.htm